Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา

ภูมิประเทศ

 

ประวัติและความเป็นมา

ความเป็นมาของชื่อ “แปดริ้ว” ก็มีเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง”พระรถเมรี” เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาดสำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา  ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล  เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๖ ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ และในปี พ.ศ.๒๔๗๖ มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ ๘ จังหวัด  ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา

“ฉะเชิงเทรา” กับ “แปดริ้ว”
ฉะเชิงเทรา” กับ “แปดริ้ว” คือสองชื่อที่เรียกขานเมืองนี้ “ฉะเชิงเทรา” เป็นชื่อที่ใช้ในทางราชการ ส่วน “แปดริ้ว” เป็นภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้เรียกกันมาช้านาน ซึ่งทั้งสองชื่อต่างก็มีเรื่องเล่าขานถึงความเป็นมาอย่างหลากหลายและมีสีสันชื่อ “ฉะเชิงเทรา” มีต้นเค้านึ่งมาจากหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์ภาคปกิณกะ ภาค 1 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความพาดพิงถึงเมืองฉะเชิงเทราว่า “…ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อไทยบ้าง ชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร แปดริ้วเป็นชื่อไทย…” นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางท่านจึงมีความเห็นว่า “ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนมาจากคำเขมรว่า “สตึงเตรง” หรือ “ฉ่ทรึงเทรา” ซึ่งแปลว่า “คลองลึก” ความเห็นนี้คงอาศัยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ด้วย เพราะเมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เมื่อครั้งที่ขอมยังมีอำนาจปกครองแผ่นดินไทยอยู่นั้น เมืองนี้เป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอำนาจการปกครองขิงขอมมาก่อน เป็นไปได้ว่าชาวเมืองในสมัยโบราณอาจจะเรียกแม่น้ำบางปะกงว่า “คลองลึก” หรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็น และด้วยอิทธิพลเขมรจึงไดเรียกชื่อแม่น้ำเป็นภาษาเขมรว่า “สตรึงเตรง” หรือ “ฉ่ทรึงเทรา” ครั้งเรียกกันไปนานๆ เสียงก็เพี้ยนกลายเป็น “ฉะเชิงเทรา” เมืองที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำก็พลอยได้ชื่อว่า “ฉะเชิงเทรา” ไปด้วย  อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากมักมีความเห็นต่างบอกไปว่า ชื่อ “ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนจาก “แสงเชรา” หรือ “แซงเซา” หรือ “แสงเซา” อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จไปตีได้ ตามที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า เพราะการออกเสียงใกล้เคียงกันมาก ยิ่งเมื่อประกอบความคิดที่ว่า เมืองตั้งขึ้นในตอนต้นกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเวลาที่ชื่อเสียงเรียงนามต่างๆ น่าจะเป็นคำไทยหมดแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน อย่างนนทบุรี นครไชยศรีและสาครบุรี ซึ่งล้วนแต่มีเชื้อสายไทยอิทธิพลอินเดีย ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าเมืองนี้ไม่ใช่คำเขมร หากแต่เป็นคำไทยที่เพี้ยนมาจากชื่อเมืองในพงศาวดารนี่เอง
 
ที่มา www.chachorngsao.go.th
 

ที่ตั้ง

จังหวัดฉะเชิงเทราตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 13 – 33 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 101 – 127 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 5,351 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,3 ล้านไร่ คิดเป็น ร้อยละ 13.8 ของเนื้อที่ทั้งหมดของภาคตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 ประมาณ 75 กิโลเมตร หรือตามเส้นทางรถไฟสายตะวันออก 61 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

 

• ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครนายกและจังหวัดปราจีนบุรี

• ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี และอ่าวไทย

• ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว

• ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดประทุมธานี

 

สภาพภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 69.42 เมตร สามารถจำแนกความแตกต่างตามความสูงของพื้นที่เป็น 3 ลักษณะคือ
1.บริเวณที่ราบลุ่ม แม่น้ำบางปะกงและที่ราบทั่วไปส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัดอันประกอบไปด้วย อำเภอเมือง, บางน้ำเปรี้ยว, บ้านโพธิ์, บางคล้า, บางปะกง, แปลงยาว, ราชสาส์นและบางส่วนของอำเภอพนมสารคาม ทั้งนี้ใน 5 อำเภอดังกล่าวมีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านก่อนออกสู่อ่าวไทย โดยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 12 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณที่ราบมีประมาณ 1.25 ล้านไร่ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม คือ การทำนา ทำสวนผลไม้ยืนต้นมาเป็นเวลานาน
2.บริเวณ พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกงและที่ราบลูกฟูกคลื่นลอนลาดเป็นพื้นที่สองฝั่ง แม่น้ำบางปะกงมีความสมบูรณ์สูงลักษณะเป็นดินตะกอนทับถมมาเป็นเวลานานตามแม่ น้ำบางปะกงไหลผ่านความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 4 – 20 เมตร โดยมีพื้นที่ประมาณ 360,250 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ พื้นที่จะอยู่ในเขตอำเภอพนมสารคามและราชสาส์นบางส่วนของอำเภอบางคล้า กิ่งอำเภอคลองเขื่อน อำเภอเมือง และอำเภอบ้านโพธิ์
3.บริเวณที่ราบสูงและเขตภูเขาด้านตะวันออกบริเวณนี้จะมีความสูงเฉลี่ยระหว่าง 100 – 200 เมตร เป็นพื้นที่ราบสลับกับภูเขามีป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร สภาพดินเหมาะแก่การทำไร่ แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรัง จะอยู่ในเขตอำเภอสนามชัยเขตและบางส่วนของอำเภอท่าตะเกียบ พนมสารคาม และแปลงยาว จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.785 ล้านไร่

 

การปกครองและจำนวนประชากร

จังหวัดฉะเชิงเทรา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบางคล้า อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอพนมสารคาม อำเภอสนามชัยเขต อำเภอแปลงยาว   อำเภอราชสาส์น อำเภอท่าตะเกียบ และอำเภอคลองเขื่อง มี 93 ตำบล 892 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 695,478 คน แยกเป็นชาย 340,964 คน เป็นหญิง 354,514 คน

ที่มา สำนักงานสถิติจังหวัดฉะเชิงเทรา

 

คำขวัญจังหวัดฉะเชิงเทรา

“แม่น้ำบางปะปงแหล่งชีวิต    พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร 
พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย   อ่างฤาไนป่าสมบูรณ์”
 
5235
TOP